วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือที่ชาวบ้านทั่วไปในครั้งนั้นเรียกว่า พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลกทรงมีพระเชษฐภคิณีคือ พระสุพรรณกัลยา ทรงมีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
ตลอดระยะเวลาในทรงพระเยาว์ของพระนเรศวรทรงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลกยอมอ่อนน้อมต่อแห่งหงสาวดี และทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชหงสาวดีไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองได้ทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนม์มายุเพียง 9 พรรษา
พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีน้ำพระทัยเป็นนักรบมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวมีน้ำพระทัยกว้างขวางสมกับที่เป็นเชื้อสายของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย แม้พระนเรศวรจะถูกนำไปเป็นตัวประกันถึงหงสาวดี แต่ตลอดระยะเวลาพระองค์มิได้ทรงหวั่นไหว ครั้งที่อยู่ในเมืองหงสาวดีก็ได้แสดงความปรีชาสามารถให้ปรากฏหลายต่อหลายครั้ง ทำให้พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์ของหงสาวดีรู้สึกหวาดหวั่น เกรงว่าต่อไปภายหน้าอาจรวบรวมแผ่นดินอยุธยาได้
ปกครองเมืองพิษณุโลก
หลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อ พ.ศ. 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ และได้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของหงสาวดีต่อไป หลังจากนั้น พระนเรศวรได้หนีกลับมาไทยโดยที่บุเรงนองยินยอมด้วยอันเนื่องมาจากพระสุพรรณกัลยาได้ขอไว้ หลังจากที่พระองค์ดำกลับมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ทรงพระราชทานนามให้ว่า "พระนเรศวร" และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชไปปกครองเมืองพิษณุโลก ทรงปกครองเมืองอย่างดีและทรงเริ่มเตรียมการที่จะกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยา
การที่ได้เสด็จไปประทับอยู่หงสาวดี 8 ปีนั้น ก็เป็นประโยชน์ยิ่งเพราะทรงทราบทั้งภาษาและนิสัยใจคอ ตลอดจนล่วงรู้ความสามารถของพม่า เป็นทุนสำหรับคิดอ่านต่อสู้ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้น อ้างว่าข้าราชการในกรุงเกลียดชังสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงต้องถอนข้าราชการเมืองเหนือที่เคยใช้สอยลงมารับราชการในกรุงมากด้วยกัน จำนวนข้าราชการทางเมืองเหนือจึงบกพร่อง ต้องหาตัวตั้งขึ้นใหม่[5] พระนเรศวรทรงทรงขวนขวายหาคนสำหรับทรงใช้สอยโดยฝึกทหารที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันตามวิธียุทธ์ของพระองค์ทั้งสิ้น จึงเป็นกำลังของพระนเรศวรในเวลาต่อมา และความคาดคิดของพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีก็กำลังจะกลายเป็นความจริงเมื่อ พระนเรศวรทรงคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพขึ้นในแผ่นดินอันเป็นเมืองที่พระองค์ทรงพระราชสมภพ